การสร้างวินัยเชิงบวก
เล่าเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 62
โดยกิตติมา สุริยกานต์
“ลูกดื้อ” พูดอย่างไรก็ไม่เชื่อฟัง ทั้งดุ ทั้งด่า ทั้งตี ก็ไม่ค่อยเชื่อฟัง เป็นคำกล่าวที่มักได้ยินผู้ปกครองพูดอยู่บ่อย ๆ การอบรมสั่งสอนเด็กในอดีต มักจะคาดหวังในพฤติกรรมของเด็กจะต้องทำตามคำสั่งของผู้ใหญ่เสมอ เมื่อถูกต่อว่า ลงโทษเด็กจะทำตามซึ่งจะได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น ปัจจุบันมีการนำรูปแบบการอบรมสั่งสอนเด็กโดยใช้การสร้างวินัยเชิงบวกเข้ามาใช้ในการอบรมสั่งสอนเด็ก
การอบรมสั่งสอนเด็ก โดยการใช้วินัยเชิงบวก คือ การสอนและการฝึกฝนเด็กให้มีพฤติกรรมตามที่เราคาดหวังด้วยการสื่อสารเชิงบวก และฝึกให้เด็กใช้ทักษะสมองส่วนหน้าเชิง Exective fuction หรือ EF เป็นการฝึกให้เด็ก คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น แก้ปัญหาเป็น อยู่กับผู้อื่นอย่างมีความสุข มีการรักษาสัมพันธภาพระหว่างกัน มีการแสดงความรักความเอาใจใส่ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง ไม่ใช้คำสั่งห้ามหรือดุด่า เมื่อไม่เป็นตามความคาดหวังของตน มีการให้รางวัลและคำชมเชย
เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกเพื่อส่งเสริมทักษะ EF โดยดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร (ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาทักษะสมอง EFS)
- หลักการทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ชื่นชมอย่างเฉพาะเจาะจงเด็กแบบตัวต่อตัวในพฤติกรรมที่เด็กแสดงออกเช่น หนูเก่งมากเลยเก็บของเล่นก่อนแม่ทำกับข้าวเสร็จเสียอีก
- หลักการมองระดับสายตา คือ การทำให้เด็กรู้สึกว่าได้รับการใส่ใจ มีคุณค่าและเชื่อใจ จะทำให้ ef ทำงานได้ดีขึ้น
- หลักการให้ทางเลือกเชิงบวก 2 ทาง เพื่อฝึกให้เด็กคิดเป็น ฝึกตัดสินใจ มีความคิดยืดหยุ่น
- หลักการเบี่ยงเบนพฤติกรรม เช่น เด็กเคาะโต๊ะ ไม่สั่งห้ามให้หยุดทำแต่ให้ทำอย่างอื่นแทน
- หลักการให้ความสำคัญ ทำให้เด็กรู้สึกมีส่วนสำคัญในครอบครัว โดยมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้เด็ก เช่น การช่วยทำงานบ้าน เมื่อเด็กทำก็ชื่นชมตัวเด็ก
- หลักการกระซิบ ไม่ตะโกนใส่เด็กเพื่อให้ทำตามคำสั่ง หากเป็นเสียงกระซิบเด็กจะใส่ใจฟัง สนใจและยอมทำตามมากกว่า
- หลักการอะไรก่อนหลัง กำหนดเงื่อนไขที่น่าสนใจเพื่อลดการต่อต้าน เช่นทำการบ้านเสร็จแล้ว ไปเล่นได้
- หลักการตั้งเวลา ฝึกให้รู้จักการวางแผน
- หลักการส่งความรู้สึก เพื่อบอกความรู้สึกของเราทำให้เด็กเรียนรู้ว่าทุกการกระทำของเขาส่งผลต่อผู้อื่นเสมอ
- หลักการแสดงความเข้าใจ ทำให้เด็กรู้ตัวว่ากำลังมีอารมณ์อะไร รู้สึกอย่างไร รับรู้อารมณ์ตัวเอง รู้ว่าต้องจัดการอย่างไรกับอารมณ์ของตัวเอง
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเทคนิคที่ผู้ปกครองสามารถปรับใช้กับบุตรของตนได้
- อย่าใช้คำว่า “ทำไม” ถามเด็กถ้าไม่ต้องการคำตอบจริง ๆ เช่น ทำไมต้องทำแบบนี้ แบบนั้น เพราะการตั้งคำถามลักษณะนี้อาจทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นใจ กลัวที่จะตอบเพราะกลัวถูกตำหนิ
- “สั่ง” เป็นสิ่งที่ไม่ดี ควรหลีกเลี่ยง เช่น คำว่า ห้าม ไม่ อย่า หยุดหรือการขู่เพื่อให้ทำ เช่น ถ้ากินข้าวไม่เสร็จ ไม่ต้องเล่น ปล่อยอยู่คนเดียวเลย
- ใช้การสอน เช่น ใช้คำว่าขอบคุณ ตามด้วยพฤติกรรมที่เราต้องการเช่น “ขอบใจที่หนูหิวข้าวแล้วบอกแม่”
- ให้ทางเลือกลูกตัดสินใจ เช่น หนูจะทำการบ้านก่อนหรือหลังกินข้าว
- บอกพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น ก่อนกินข้าวควรล้างมือให้สะอาด
- บอกความรู้สึกของเรา เพื่อให้ลูกมั่นใจและหยุดพฤติกรรมเรียกร้อง “ตอนนี้หนูกังวลว่าแม่จะไม่หายโกรธแต่เดี๋ยวแม่ก็หายโกรธ
การสร้างวินัยเชิงบวกอย่างสม่ำเสมอ ต้องมีการสอนที่ดี และฝึกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างสมัครใจ ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง เพราะเด็กที่ได้รับการปลูกฝังที่ดี อบรมเลี้ยงดูอย่างถูกต้องเหมาะสม จะช่วยบ่มเพาะให้เด็กเติบโตอย่างมีความสุขและเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศต่อไป