ประวัติความเป็นมา
3 ก.ค. 2559
วงการ Craniofacial Surgery สากล
โรคที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะเหล่านี้มีตั้งแต่เป็นน้อยๆ เช่น ปากแหว่ง เพดานโหว่ ไปจนถึงขั้นรุนแรง เช่น Crouzon syndrome, Apert syndrome, frontonasal dysplasia ฯลฯ โดยผู้ป่วยเหล่านี้อาจจะมีกระบอกตาที่อยู่ห่างกันหรือต่างระดับ มีร่องบนใบหน้า ขากรรไกรผิดรูปผิดร่าง เป็นต้น ผู้ป่วยที่เป็นขั้นรุนแรง การรักษาจะยิ่งยุ่งยากและต้องรอบคอบ มิฉะนั้น อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
เป็นที่ทราบกันดีว่าการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยเหล่านี้(craniofacial surgery) ได้เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา นพ. Joseph E Murray ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ตกแต่งที่มีชื่อเสียงมาก ได้รับรางวัลโนเบิลจากการผ่าตัดปลูกถ่ายไตในคนได้เป็นคนแรกของโลก ได้เริ่มต้นงานด้านนี้อย่างจริงจัง มีการดูแลผู้ป่วยแบบสหสาขาวิชาชีพ มีการจัดตั้งหลักสูตรการฝึกอบรมในสาขานี้ขึ้น เป็นผู้ที่ผ่าตัดเลื่อนตำแหน่งใบหน้าส่วนกลาง (midface advancement) เป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1966
ในช่วงเวลาเดียวกัน ศัลยแพทย์ตกแต่งชาวฝรั่งเศสอีกท่านหนึ่ง ชื่อ Paul Tessier ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกับนพ. Joseph Murray ก็สนใจและศึกษาความรู้เรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง ได้คิดค้นและนำเสนอเทคนิคการผ่าตัดทางด้านนี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1967 ทั้งยังเคยได้ทำงานร่วมกับนพ. Joseph Murray ในอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1970-90
นพ. Paul Tessier นั้นมีผลงานเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก มีชื่อเสียงมากจนได้ถูกเรียกว่า เป็น "บิดาแห่งวงการ Craniofacial Surgery" มีศัลยแพทย์จากทั่วโลกมาเรียนด้วย เช่น David J David จากออสเตรเลีย, Henry Kawamoto จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นศิษย์รุ่นแรก และศัลยแพทย์เหล่านี้ ปัจจุบันก็กลายเป็นผู้นำในวงการนี้
วงการ Craniofacial Surgery ในประเทศไทย
แต่เดิมมาในประเทศไทย ปัญหาเรื่องนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจแต่อย่างใด จนกระทั่งนพ. จรัญ มหาทุมะรัตน์ แห่งหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล และเลือกไปศึกษาทางด้านนี้โดยเฉพาะกับนพ. David J David ที่ Australian Craniofacial Unit ประเทศออสเตรเลีย และที่ Nassau County Medical Centre และ New York University เมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กลับมาปฏิบัติงานในปี พ.ศ. 2529 ประกอบกับนพ.ช่อเพียว เตโชฬาร แห่งหน่วยประสาทศัลยศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ ซึ่งได้ไปศึกษาต่อทางด้านประสาทศัลยศาสตร์ในเด็ก จากแคนนาดา จนกลับมาพอดี
นพ. จรัญ มหาทุมะรัตน์ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ รวม 12 สาขา เข้ามาร่วมกลุ่มเป็น "คณะทำงานแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" ขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ดังกล่าวได้แก่ กุมารแพทย์, รังสีแพทย์, จักษุแพทย์, โสต ศอ นาสิก แพทย์, วิสัญญีแพทย์, แพทย์ทางพันธุกรรม, ทันตแพทย์และทันตแพทย์จัดฟัน, จิตแพทย์, นักอรรถบำบัด, นักสังคมสงเคราะห์ และพยาบาล เป็นต้น มาร่วมกันทำงานโดยไม่ได้รับผลตอบแทนใดๆเป็นพิเศษ
ในช่วงแรกนั้น ได้แพทย์และผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่านร่วมแรงร่วมใจและสนับสนุนมาเป็นอย่างดี อาทิเช่น นพ. ถาวร จรูญสมิทธิ์ (ศัลยแพทย์ตกแต่ง) พญ. ส่าหรี จิตตินันทน์ (กุมารแพทย์) พญ.สุมาลี ศรีวัฒนา (กุมารแพทย์) การทำงานจึงได้ประสบความสำเร็จมาเป็นอย่างดี
พญ.สุมาลี หรือ อจ.สุมาลี เคยเล่าว่า เมื่อครั้งเป็น intern (นิสิตแพทย์ปีสุดท้าย) อจ.สุมาลีมีความประทับใจมากเมื่ออจ.ส่าหรี ได้นำผู้ป่วยโรค Down syndrome มาสอน เมื่อกลับมาจากการฝึกอบรมเพิ่มเติมในต่างประเทศ จึงมาร่วมงานกับอจ.ส่าหรี ดูแลผู้ป่วยที่มีความพิการแต่กำเนิดหลากหลายชนิด อาจารย์เป็นผู้ริเริ่ม holistic approach คือ การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม (ดูแลคนไข้ทั้งทางจิตใจ ร่างกาย และสังคม ไม่ใช่เฉพาะทางกายในส่วนที่เราเชี่ยวชาญอย่างเดียว) ทั้งยังริเริ่มในเรื่องต่างๆอีกมาก รวมทั้งการประชุมวางแผนรักษาของทางศูนย์ฯ ที่เรียกว่า "Craniofacial Conference" บางรายได้รับการดูแลรักษาจนมีชาวต่างประเทศอุปถัมภ์เป็นบุตรบุญธรรม อาจารย์เองได้เดินทางไปเยี่ยมที่ต่างประเทศ ได้เห็นว่าเด็กมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า อาจารย์ได้รักษาดูแลผู้ป่วยอย่างถึงที่สุด
ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะทำการตรวจผู้ป่วยและร่วมประชุมปรึกษาหารือในปัญหาต่างๆของผู้ป่วยเป็นประจำทุกเดือน ผลจากการประชุมจะนำไปสู่แผนการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยรายนั้นๆ คณะทำงานนี้ได้ทำงานมาอย่างสม่ำเสมอมาตั้งแต่ พ.ศ. 2529 ซึ่งนับว่าเป็นคณะทำงานแก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่มีมาตรฐานระดับสากลเป็นคณะแรกของประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2544 หลังจากที่นพ. นนท์ โรจน์วชิรนนท์ แห่งหน่วยศัลยศาสตร์ตกแต่ง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จบการศึกษาฝึกอบรมทางด้าน craniofacial Surgery โดยเฉพาะกับ นพ. David J David ที่ Australian Craniofacial Unit และกับ นพ. Mutaz B Habal ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ นพ. Joseph Murray ที่ Tampa Bay Craniofacial Center ได้เสนอแนวคิดว่าน่าจะมีการก่อตั้งศูนย์เฉพาะทางขึ้นในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยน่าจะมีสถานที่เฉพาะเพื่อให้เป็นบ้านหลังที่สองของผู้ป่วยและครอบครัว ควรมีการเก็บข้อมูลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ แทนที่จะอาศัยเวชระเบียนของโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว น่าจะมีการบันทึกภาพผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ โดยวิธีการถ่ายภาพที่เป็นมาตรฐาน นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ เห็นด้วยกับความคิดนี้ และช่วยกันติดต่อกับฝ่ายต่าง ๆ จนสามารถจัดตั้ง "ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" ขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2544 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 48 พรรษา ในปี พ.ศ. 2546 โดยอยู่ภายใต้สังกัดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในช่วงนั้นนพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ ริเริ่มงานด้านประชาสัมพันธ์ ใช้ความสามารถส่วนตัวสร้างเว็บไซต์ของศูนย์เพื่อการประชาสัมพันธ์ เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และให้ชื่อว่า "ChulaSurgery" เพื่อเก็บข้อมูลผู้ป่วย (electronic medical record หรือ EMR) จัดหาจนมีเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนมาประจำศูนย์ จัดการและฝึกสอนเจ้าหน้าที่ศูนย์จนมีระบบการถ่ายภาพทางคลินิกที่ได้มาตรฐาน นำเทคนิคการรักษาและผ่าตัดใหม่ ๆ มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย มีผลการรักษาผ่าตัดที่ดีเยี่ยมเป็นที่ไว้วางใจของผู้ป่วยและครอบครัว ริเริ่มให้มีการดูแลผู้ป่วยทางด้านจิตใจและสังคมด้วยกิจกรรมต่าง ๆ นำเสนอผลงานทางวิชาการในระดับต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากและเป็นที่รู้จักกันดีในวงการแพทย์ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงกลายเป็นศูนย์แรกในประเทศไทยและภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความพร้อมในการดูแลรักษาผู้ที่มีความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะในทุกรูปแบบ ทั้งชนิดที่ไม่รุนแรงอย่างปากแหว่งเพดานโหว่ และชนิดรุนแรงอื่น ๆ แบบครบวงจรอย่างแท้จริง
ด้วยการนำของนพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ ฝีมือการรักษาผ่าตัดและนวัตกรรมด้านการดูแลผู้ป่วยของนพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ ความสามารถของคณะผู้เชี่ยวชาญที่ครบถ้วนทุกสาขา ทีมเจ้าหน้าที่สายสนับสนุน และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของประชาชนและผู้บริจาค ชื่อเสียงของศูนย์ฯ จึงเป็นที่ประจักษ์ในวงการแพทย์ไทย มีผู้ป่วยส่งต่อจากสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้รับความไว้วางใจจากสำนักพระราชวัง จนในที่สุดสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2551 และพระราชทานชื่อใหม่ว่า "ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย" ในปี พ.ศ.2552
ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ (craniofacial center) ที่สมบูรณ์แบบทั่วโลกมีไม่มากนัก และจะต้องประกอบไปด้วยแพทย์และบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมทางด้านนี้มาอย่างดีจำนวนอย่างน้อย 12 สาขาวิชาดังกล่าวไว้แล้วข้างต้น ปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาและหาวิธีการรักษากันอยู่เป็นประจำ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยมีบุคลากรที่ทรงคุณค่าในสหสาขาวิชาต่าง ๆ ทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศัลยแพทย์ตกแต่งที่ได้รับการฝึกอบรมทางด้าน Craniofacial Surgery จนครบหลักสูตรในสถาบันในต่างประเทศที่ทั่วโลกยอมรับถึง 2 ท่าน เป็นแห่งแรกในประเทศไทย และประสาทศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญการผ่าตัดในเด็ก ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงเป็นหลักสำคัญและเป็นการแพทย์ต้นแบบทางด้านการแก้ไขความผิดปกติบนใบหน้าและศีรษะชนิดรุนแรงมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน