'.$description; ?>

Heading for Printing

 

ปัญหาเกี่ยวกับหูและการได้ยิน

นพ.มล.กรเกียรติ์ สนิทวงศ์
13 ธ.ค.​53

ผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการบนใบหน้าอื่นๆ อาจประสบปัญหาต่างๆของโรคหูได้ง่ายกว่าผู้ป่วยทั่วไป ทั้งนี้เนื่องมาจากความผิดปกติแต่กำเนิดเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์มารดาซึ่งการเจริญของหูและกระดูกใบหน้าต่างพัฒนาในช่วงเวลาเดียวกัน รวมทั้งพัฒนามาจากจุดกำเนิดเดียวกัน (first and second branchial arch) นอกจากความผิดปกติของหูซึ่งอาจมีมาแต่กำเนิดแล้ว เด็กอาจมีปัญหาของโรคหูเกิดขึ้นตามมาในภายหลังได้ เนื่องจากหูชั้นกลางมีการติดต่อกับบริเวณคอหลังโพรงจมูก ดังนั้นการที่เด็กมีความผิดปกติของใบหน้า จมูก คอ เพดานปาก และโพรงไซนัสจึงสามารถส่งผลให้หูทำงานผิดปกติได้และเกิดโรคของหูตามมา

ส่วนประกอบและหน้าที่ของหู

หูแบ่งออกเป็น 3 ส่วนได้แก่

  • หูชั้นนอก ประกอบด้วย ใบหู รูหู จนถึงเยื่อแก้วหู หูชั้นนอกมีหน้าที่รับเสียงจากสิ่งแวดล้อมภายนอก
  • หูชั้นกลาง ประกอบด้วย กระดูกหูเล็กๆ 3 ชิ้น คือกระดูกค้อน ทั่ง และโกลน โดยกระดูกค้อนจะแนบติดกับเยื่อแก้วหู และกระดูกโกลนจะติดต่อกับหูชั้นใน นอกจากนี้ยังมีท่อยูสเตเชียน เป็นทางติดต่อระหว่างหูชั้นกลางกับบริเวณคอหลังโพรงจมูก ทำให้หูชั้นกลางมีการปรับความดันภายในให้เท่ากับภายนอกอย่างเหมาะสม หูชั้นกลางมีหน้าที่ขยายเสียงที่รับมาจากหูชั้นนอกผ่านเยื่อแก้วหูและกระดูกหูทั้ง 3 ชิ้น ส่งไปถึงหูชั้นใน
  • หูชั้นใน ประกอบด้วย ส่วนสำคัญ 2 ส่วนคือ โคเคลีย มีลักษณะคล้ายก้นหอยทำหน้าที่รับสัมผัสเสียงแล้วส่งต่อไปตามประสาทรับเสียงไปยังสมอง และท่อเซมิเซอคิวลา มีลักษณะคล้ายท่อครึ่งวงกลม 3 คู่ ทำหน้าที่รับรู้การทรงตัวและรับรู้การเคลื่อนไหว แล้วส่งต่อไปตามประสาทการทรงตัวไปยังสมอง

ปัญหาโรคหู

เราอาจแบ่งโรคหูตามช่วงเวลาที่เกิดความผิดปกติได้ ดังนี้

  1. โรคหูที่เป็นแต่กำเนิด
    ทารกในครรภ์มารดาเริ่มมีการเจริญของหูที่อายุครรภ์ประมาณ 8 สัปดาห์ และเจริญสมบูรณ์ที่อายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ ดังนั้นการที่ครรภ์มารดาถูกกระทบกระเทือนด้วยทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกต่างๆในช่วงอายุครรภ์ดังกล่าวนี้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การใช้ยา การได้รับรังสี การบาดเจ็บ และอื่นๆก็ล้วนมีผลกระทบต่อการเจริญของหูได้ โรคหูที่เป็นมาแต่กำเนิดมีหลากหลาย ได้แก่ ใบหูเล็กหรือผิดรูป ไม่มีรูหูหรือมีรูหูขนาดเล็กมาก ไม่มีหูชั้นกลางโดยช่องหูชั้นกลางเป็นกระดูกทึบหรือมีหูชั้นกลางแต่กระดูกนำเสียง 3 ชิ้นแข็งติดกันไม่สามารถนำเสียงได้ หูชั้นในไม่เจริญทำให้มีอาการหูตึง หรือหูหนวกสนิท
  2. โรคหูที่เกิดขึ้นภายหลัง
    หูจะสามารถทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อท่อยูสเตเชียนสามารถปรับความดันในช่องหูชั้นกลางให้เท่ากับความดันอากาศภายนอก มิฉะนั้นช่องหูชั้นกลางจะมีสภาพเป็นเหมือนห้องปิดที่ไม่มีช่องระบาย มีความดันเป็นลบและมีน้ำเหลืองขัง เยื่อแก้วหูจึงไม่สามารถเคลื่อนไหวและนำเสียงได้ดีเพราะมีน้ำท่วมขังอยู่ด้านหลัง เด็กที่มีเพดานโหว่จะพบปัญหาหูอื้อ หูตึงจากเหตุดังกล่าวได้บ่อยเนื่องจากเด็กมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อเพดานอ่อนซึ่งเป็นกล้ามเนื้อสำคัญที่ทำหน้าที่ปิดเปิดท่อยูสเตเชียน นอกจากนี้เด็กเพดานโหว่ยังมีโอกาสสำลักนมสำลักอาหารผ่านรูโหว่ที่เพดานปากได้บ่อย จึงมีความเสี่ยงของการอักเสบติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็น หูชั้นกลางอักเสบ แก้วหูทะลุ หูน้ำหนวกเรื้อรัง หรือหูน้ำหนวกชนิดอันตรายร้ายแรง (cholesteatoma) ได้

การตรวจพิเศษทางหู

นอกจากการตรวจเบื้องต้นทางหูคอจมูกอย่างละเอียด ซึ่งรวมไปถึงการใช้กล้องกำลังขยายสูง (microscope) เพื่อให้เห็นรายละเอียดของรูหูส่วนนอก เยื่อแก้วหู และหูชั้นกลางอย่างชัดเจนแล้ว ผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้ายังจำเป็นต้องรับการตรวจพิเศษเพิ่มเติมในเรื่องความสามารถในการรับฟังเสียง รวมทั้งสภาวะการทำงานของหูด้วย การตรวจพิเศษทางหูนี้ได้แก่

  1. Audiometry คือ การตรวจวัดระดับการได้ยินเสียง ซึ่งจะวัดระดับการได้ยินทั้งเสียงที่ผ่านมาทางอากาศ (air conduction) และเสียงที่ผ่านมาโดยตรงที่กระดูกกกหู (bone conduction) โดยการตรวจชนิดนี้จะใช้ตรวจกับเด็กโตอายุประมาณ 4 ปีขึ้นไป หรือผู้ใหญ่ที่สามารถให้ความร่วมมือในการตรวจได้ ส่วนเด็กเล็กอายุ 2-4 ปีจะใช้ Play Audiometry โดยใช้ของเล่นเป็นสื่อช่วยในการตรวจ
  2. Behavioral Observation Audiometry (BOA) คือการตรวจการได้ยินเสียงจากการสังเกตพฤติกรรมการตอบสนองต่อเสียง เช่น เด็กมีอาการสะดุ้งเมื่อปล่อยเสียงกระตุ้น หรือหันหน้าเข้าหาเสียง การตรวจชนิดนี้เป็นการตรวจเบื้องต้นในเด็กเล็กที่ไม่สามารถให้ความร่วมมือในการตรวจ ผลที่ได้จะบอกเพียงคร่าวๆ ไม่ใช่การวัดระดับการได้ยินที่แท้จริง
  3. Otoacoustic Emission (OAE) คือการตรวจวัดระดับเสียงสะท้อนจากหูชั้นในเมื่อปล่อยเสียงกระตุ้น ผลที่ได้จะช่วยบ่งชี้ถึงความผิดปกติของหูชั้นในได้ดี การตรวจชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยจึงสามารถเลือกใช้กับการตรวจผู้ป่วยเด็กเล็กได้
  4. Auditory Brain Stem Response (ABR) คือการตรวจวัดคลื่นจากประสาทหูและก้านสมองเมื่อปล่อยเสียงกระตุ้น ผลที่ได้จะช่วยบ่งชี้ภาวะหูเสื่อมจากความผิดปกติที่อยู่ถัดไปจากหูชั้นใน ซึ่งได้แก่ประสาทหูและก้านสมอง และยังช่วยประมาณระดับความรุนแรงของการได้ยินด้วย การตรวจชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยจึงสามารถเลือกใช้กับการตรวจผู้ป่วยเด็กเล็กได้
  5. Tympanometry คือการตรวจดูการทำงานของหูชั้นกลาง ผลที่ได้จะช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยความผิดปกติของหูชั้นกลาง เช่น ภาวะมีน้ำเหลืองขังในช่องหูชั้นกลาง ภาวะที่กระดูกหูแข็งติดกันไม่สามารถนำเสียงได้ดี การตอบสนองของกล้ามเนื้อหูชั้นกลางต่อเสียงกระตุ้น (stapedial reflex) ระดับความดันในช่องหูชั้นกลางซึ่งบ่งชี้ถึงการทำงานของท่อยูสเตเชียน เป็นต้น

แนวทางการรักษาปัญหาทางหูที่พบบ่อย

  1. ปัญหาความพิการแต่กำเนิดของรูหูชั้นนอกและช่องหูชั้นกลาง
    ผู้ป่วยประเภทนี้มักพบร่วมกับการมีใบหูเล็กผิดรูป และกระดูกกรามบน กรามล่างมีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่มักมีความผิดปกติข้างเดียว ทำให้รูปใบหน้าไม่เท่ากัน แต่ก็อาจพบความผิดปกติทั้ง 2 ข้างในบางรายได้ แพทย์จะต้องประเมินระดับความสามารถในการรับฟังเสียง หากผู้ป่วยมีปัญหาหูตึงในด้านใดด้านหนึ่งเพียงข้างเดียว โดยมีข้างหนึ่งปกติ ผู้ป่วยจะไม่มีปัญหาในการพูดคุยสื่อสารกับบุคคลอื่น สามารถพัฒนาภาษา และเรียนหนังสือได้ปกติ ดังนั้นแพทย์จะแก้ไขเฉพาะใบหูที่ไม่สวยงามให้ผู้ป่วยสามารถเข้าสังคมร่วมกับเด็กคนอื่น ส่วนปัญหาหูตึงได้ยินไม่ชัดจะรอให้ผู้ป่วยตัดสินใจเองว่าต้องการผ่าตัดแก้ไขหรือไม่เมื่อผู้ป่วยมีอายุ 18 ปีซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว
    ส่วนผู้ป่วยที่มีหูตึงทั้ง 2 ข้างจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข มิฉะนั้นผู้ป่วยอาจพูดไม่ได้ และมีปัญหาในการเรียนและการเข้าสังคม โดยผู้ป่วยจะได้รับเครื่องช่วยฟังที่ปรับเครื่องให้เหมาะสมกับภาวะหูตึงของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์จะรอจนกระทั่งผู้ป่วยมีอายุประมาณ 6-7 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นอายุที่เหมาะสมต่อการผ่าตัด แล้วแพทย์จึงจะทำการผ่าตัดเสริมสร้างรูหูส่วนนอก เสริมสร้างเยื่อแก้วหู รวมทั้งแก้ไขความผิดปกติของกระดูกหูในช่องหูชั้นกลางซึ่งอาจต้องใช้กระดูกหูเทียม โดยจะเลือกทำในหูข้างที่น่าจะได้ผลการรักษาที่ดีกว่าเพียงข้างเดียว
  2. ปัญหาน้ำเหลืองขังในช่องหูชั้นกลาง
    ผู้ป่วยที่มีการทำงานของท่อยูสเตเชียนผิดปกติโดยเฉพาะผู้ป่วยเพดานโหว่มักมีน้ำเหลืองขังอยู่เรื้อรังในหูชั้นกลาง แม้ว่าการผ่าตัดแก้ไขเพดานโหว่จะช่วยลดปัญหาการสำลัก และการติดเชื้อในหูชั้นกลางและโพรงไซนัส แต่ผู้ป่วยจะยังคงมีปัญหาน้ำเหลืองขังในช่องหูชั้นกลางอยู่เนื่องจากกล้ามเนื้อเพดานอ่อนยังคงไม่สามารถเปิดท่อยูสเตเชียนได้ดี
    ผู้ป่วยส่วนหนึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาซึ่งอาจต้องรับประทานยานานหลายเดือน ร่วมกับการเบ่งลมออกหูขณะปิดปากและบีบจมูก เพื่อให้แรงดันลมเปิดท่อยูสเตเชียนออก แต่ผู้ป่วยบางส่วนที่ใช้ยาไม่ได้ผลจะต้องมารับการผ่าตัดใส่ท่อปรับความดันในหูชั้นกลาง เมื่อใส่ท่อแล้วหูชั้นกลางจะไม่อยู่ในสภาพเป็นห้องปิดที่มีความดันเป็นลบอีก ผู้ป่วยจึงไม่มีน้ำเหลืองขังและได้ยินดี
  3. ปัญหาหูน้ำหนวก
    ทั้งการที่ท่อยูสเตเชียนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และการสำลักนมสำลักอาหารบ่อยๆ ต่างเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการบนใบหน้าอื่นๆ มีปัญหาหูน้ำหนวกได้ง่าย เมื่อเด็กมีปัญหาหูอื้อ ปวดหู มีหนองไหล แพทย์จะพิจารณาว่าโรคหูน้ำหนวกนั้นเป็นชนิดเฉียบพลัน หรือชนิดเรื้อรัง หากเป็นชนิดเรื้อรังแล้ว โรคได้ทำลายส่วนใดของหูบ้าง เช่นเยื่อแก้วหูทะลุ กระดูกหูสึกกร่อน ประสาทหูชั้นในเสื่อม หรือโรคได้ลุกลามไปเกินหู เข้าสู่กระดูกกกหู มีลักษณะอันตรายร้ายแรง (cholesteatoma) ที่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายหรือไม่ เช่น หน้าเบี้ยว หูหนวกสนิทถาวร เวียนศีรษะ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือฝีในสมอง
    ผู้ป่วยหูน้ำหนวกเฉียบพลันจะได้รับการรักษาทางยาเป็นหลัก ส่วนผู้ป่วยหูน้ำหนวกเรื้อรังนั้น แพทย์มักจะให้ยาประคับประคองไปก่อน จนกระทั่งเด็กมีอายุมากพอสมควร ประมาณช่วงก่อนวัยรุ่นขึ้นไป ซึ่งท่อยูสเตเชียนสามารถทำงานได้ดีขึ้นแล้วจึงจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัด แต่ถ้าผู้ป่วยมีหูน้ำหนวกชนิดอันตรายร้ายแรงซึ่งมีความเสี่ยงต่อความพิการและชีวิต แพทย์จะทำการผ่าตัดทันที

เครื่องช่วยฟัง

หากปัญหาการได้ยินไม่ชัดของผู้ป่วยมีสาเหตุมาจากรูหูชั้นนอก หรือมาจากหูชั้นกลางแพทย์สามารถผ่าตัดแก้ไขได้ แต่ถ้าผู้ป่วยมีสาเหตุของปัญหาจากหูชั้นใน หรือมีข้อห้ามใดๆต่อการผ่าตัดซึ่งแพทย์ไม่สามารถผ่าตัดได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟังเพื่อขยายเสียงให้สามารถรับฟังเสียงได้ดีขึ้น ทั้งนี้ระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยินต้องไม่รุนแรงถึงขั้นหนวกสนิท เครื่องช่วยฟังแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. เครื่องช่วยฟังชนิดเสียงผ่านมาทางกระดูก (bone conduction hearing aid) ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีรูหูชั้นนอก ผู้ป่วยจึงต้องใช้เครื่องที่สัมผัสไว้กับกระดูกกกหูแล้วคาดไว้กับศีรษะเหมือนการใส่ที่คาดผม เครื่องจะรับเสียงแล้วแปลงสัญญาณเสียงให้กระดูกกกหูเกิดการสั่น และนำเสียงไปสู่หูชั้นใน
  2. เครื่องช่วยฟังชนิดเสียงผ่านมาทางอากาศ มีหลายแบบ ได้แก่
    1. เครื่องช่วยฟังแบบกล่อง (body type) ผู้ป่วยต้องใส่เครื่องที่เป็นกล่องไว้กับกระเป๋าเสื้อแล้วมีสายต่อจากเครื่องมาที่หู
    2. เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู (behind the ear) เครื่องจะเหน็บไว้ที่หลังหู
    3. เครื่องช่วยฟังแบบใส่ไว้ในช่องหู โดยเครื่องจะถูกหล่อแบบให้พอดีกับหูผู้ใช้แต่ละคน มี 3 ขนาดได้แก่
      1. เครื่องช่วยฟังแบบใส่หู (in the ear) เครื่องจะใส่ไว้ที่ปากรูหูเป็นขนาดเต็มช่องหู เหมาะกับผู้ที่มีหูเสื่อมปานกลางถึงมาก
      2. เครื่องช่วยฟังขนาดเล็กใส่ในรูหู (in the canal) เครื่องมีขนาดเล็กลง ใส่ลึกขึ้นในรูหู เหมาะกับผู้ป่วยหูเสื่อมน้อยถึงมาก
      3. เครื่องช่วยฟังขนาดจิ๋วใส่ในรูหู (complete in the canal) เครื่องมีขนาดเล็กมากจนเกือบมองไม่เห็น เหมาะกับผู้ป่วยที่หูเสื่อมน้อยถึงปานกลาง
    4. เครื่องช่วยฟังแบบแว่นตา เครื่องจะมีเครื่องรับและขยายเสียงอยู่ที่ขาของแว่นตา และมีท่อเล็กๆนำเสียงจากขาแว่นเข้าสู่ช่องหูอีกทีหนึ่ง ใช้ในกรณีผู้ป่วยที่ต้องใส่แว่นตาอยู่แล้ว แต่ไม่นิยมและมีราคาแพง

โดยสรุปแล้วผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการบนใบหน้าอื่นๆ จะต้องได้รับการตรวจหู และประเมินระดับความสามารถในการรับฟังเสียงด้วยการตรวจพิเศษ เพื่อทราบถึงความรุนแรงของปัญหาด้านหูที่มีอยู่ และให้การบำบัดรักษาซึ่งอาจเป็นการรักษาด้วยยา หรือรับการผ่าตัด ตลอดจนฟื้นฟูสภาพด้วยเครื่องช่วยฟัง และเฝ้าระวังโรคทางหูที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง การดูแลรักษาปัญหาของหูที่ถูกต้อง นอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยรับฟังเสียงได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา การเข้าสังคม และการเรียนอีกด้วย