เข็น ...ใจ
เล่าเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 63
โดยชุติมณฑน์ ปัญญาคำ
คงปฏิเสธไม่ได้ที่ผู้คนทั่วโลกตกอยู่ในสภาวะตึงเครียดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยเราเองก็เช่นกัน ผู้คนต่างตื่นตระหนกกับสถานการณ์ที่ยังควบคุมไม่ได้ของการระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว  จากความตื่นตัวของการป้องกันและดูแลตัวเองในการที่หาซื้อหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ล้างมือเพื่อป้องกันโรค ซึ่งหาซื้อได้ยากและมีราคาแพง ประจวบเหมาะกับอัตราการเลิกจ้างที่สูงขึ้น โรงงานปิดตัวจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศและทั่วโลก ส่งผลกระทบทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับคนไทยเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  จากการเปลี่ยนแปลงไปของสถานการณ์ดังกล่าว บางอย่างอยู่เหนือการควบคุมหรืออยู่ระหว่างการพยายามควบคุม ทำให้บางคนต้องตกอยู่ในสภาวะที่ต้อง “เข็นใจ” เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ไปได้  มันคงไม่ง่ายเลยที่ทุกคนจะผ่านไปได้อย่างราบรื่นในทุกๆคน ทั้งนี้โดยปัจเจกบุคคลล้วนแล้วมาจากต่างพื้นอารมณ์ ส่งผลต่ออาการติดขัดทางใจที่สั้นหรือยาวได้ต่างกัน  อาการติดขัดทางจิตใจนี้ หากจะให้ง่ายขึ้นเราอาจ เรียกมันอีกอย่างว่า “ความเครียด” ก็ได้
จริงอยู่ “ความเครียด” เป็นกลไกตามธรรมชาติอย่างหนึ่งของร่างกายในการเตรียมพร้อมเพื่อที่จะปรับตัวรับมือกับสิ่งต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น  เหมือนเป็นสัญญาเตือน กระตุ้นให้ร่างกายมีการตื่นตัว เตรียมพร้อมที่จะต่อสู้หรือถอย ปฏิกิริยาทางร่างกายที่ตอบสนองต่อภาวะการติดขัดทางจิตใจหรือความเครียด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลนั้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
- ด้านร่างกาย มีอาการหน้ามืด เป็นลม เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ซึ่งอาการเหล่านี้เราเรียกว่าการแสดงอาการทางกาย  โดยระดับความรุนแรงของอาการทางกายก็จะมีความแตกต่างกันไปในละบุคคลและระยะเวลาของความติดขัดทางจิตใจ
- ด้านจิตใจและอารมณ์ หมกมุ่นครุ่นคิด ไม่สนใจสิ่งรอบตัว ใจลอย ขาดสมาธิ ขาดความระมัดระวังในการทำงาน จิตใจขุ่นมัว โมโหโกรธง่าย  บางรายอาจสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง จัดการกับภาวะความคับข้องใจได้ยาก วิตกกังวล ขาดความภูมิใจในตนเอง เป็นต้น
- ด้านพฤติกรรม แยกตัว สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ก้าวร้าว เป็นต้น
เมื่อพูดถึงคำว่า “เข็นใจ” คงต้องมาทำความเข้าใจกันแบบแยกทีละคำก่อน  คำว่า “เข็น” ในความหมายตามราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง เข็นดันสิ่งที่ติดขัดที่ไม่อาจเคลื่อนไปได้โดยปกติให้เคลื่อนไปได้ เช่น เข็นรถ หรือหมายถึง เร่งรัดให้ดีขึ้น
“ใจ” หมายถึง ส่วนที่ทําหน้าที่รู้ รู้สึก นึก และคิด หรือจุดสำคัญของบางสิ่งบางอย่าง
เมื่อนำคำสองคำนี้มาอยู่ด้วยกัน “เข็น...ใจ” ผู้เขียนขอให้คำนิยามในความเห็นส่วนตัวว่า “การเข็นภาวะติดขัดในจิตใจที่อาจจะมีผลให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตในช่วงเวลานั้น ๆ ออกไป”
วิธีการ “เข็น ...ใจ”
- ทบทวนหรือค้นหาความปัญหาที่มันรบกวนใจหรืออาการติดขัดทางใจว่ามีอะไรบ้าง
- ลำดับความสำคัญหรือลำดับปัญหา 1, 2, 3…..
- เลือกปัญหาหรือสิ่งมีรบกวนจิตใจที่คาดว่าจะจัดการได้ก่อนสัก 2-3 อย่าง เพราะเราไม่สามารถเลือกจัดการได้ทั้งหมด
- หาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการติดขัดทางจิตใจ แล้วหาแนวทางการแก้ไข
- นำวิธีใหม่เพิ่มเติมจากเดิมมาใช้แก้ปัญหา และลงมือทำไปทีละขั้น
- มุ่งแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ ไม่ให้ความคิดและกิจกรรมอื่นมารบกวน
- ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะอยู่กับปัญหาที่เกิดขึ้น ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นหากปัญหาใดแก่ไม่ได้
- ฝึกมองโลกในแง่ดี คิดเชิงบวก
- ไม่ตำหนิตนเอง
- มองหาข้อดีของตนเอง
- ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะบางปัญหาเราไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง
อ้างอิง - https://dictionary.sanook.com และ https://www.thaihealth.or.th/Content/