'.$description; ?>

Heading for Printing

 
ย้อนกลับ | กะโหลกเชื่อมติดกันผิดปกติ | กระบอกตาห่างกันมากกว่าปกติ | ใบหน้าเล็กแต่กำเนิด | โรคงวงช้าง | ใบหน้าแหว่งแต่กำเนิด | กลุ่มอาการเทรชเชอร์ คอลลินส์ | ใบหูเล็กไม่สมบูรณ์ | ใบหน้าเหี่ยวแห้ง |

กระบอกตาห่างกันมากกว่าปกติ (Hypertelorism)

นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์
14 ส.ค. 2562

กระบอกตา(หรือเบ้าตา)ห่างแต่กำเนิด (hyperteolorism) เป็นความผิดปกติที่พบได้ในโรคมากมายหลายชนิด เช่น โรคใบหน้าแหว่งแต่กำเนิด (facial clefts) การเจริญผิดปกติของส่วนยื่นฟอรนโทเนซัล (frontonasal dysplasia) กลุ่มอาการเอเพิร์ต (Apert syndrome) เป็นต้น  มีลักษณะสำคัญคือ กระบอกตาทั้งสองข้างอยู่ห่างจากกันมากกว่าปกติ

ภาวะนี้นอกจากจะทำให้หน้าตาดูผิดปกติจนส่งผลต่อผู้ป่วยทางด้านจิตใจและสังคม ยังอาจทำให้มีความผิดปกติทางด้านการมองเห็นด้วย  โดยเด็กอาจไม่สามารถใช้ตาทั้งสองข้างที่อยู่ห่างกันมากในการมองวัตถุต่าง ๆ พร้อมกัน ทำให้ไม่สามารถมองภาพเป็นสามมิติ หรือแม้แต่อาจเป็นเหตุให้มีการเลือกใช้เฉพาะตาข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่งจนเป็นนิสัย นาน ๆ เข้า ตาข้างที่ไม่ได้ใช้ก็จะเสื่อมสภาพไปเอง (amblyopia) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็วตั้งแต่แรกเกิด

การวินิจฉัย

การวินิจฉัยภาวะนี้อาศัยการตรวจร่างกายเป็นเบื้องต้น โดยจะพบว่าตำแหน่งหัวตาและลูกตาอยู่ห่างออกจากกันมากกว่าปกติ บอกได้ด้วยการวัดระยะระหว่างหัวตา (medial intercanthal distance) ระยะระหว่างรูม่านตา (interpupillary distance) และระยะระหว่างหางตา (lateral intercanthal distance)  แล้วยืนยันด้วยเอกซเรย์ชนิดพิเศษของกระดูกใบหน้า เช่น เอกซเรย์ใบหน้าขนาดเท่าจริง (cephalogram) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อดูลักษณะและตำแหน่งของกระดูกบริเวณเบ้าตา

เมื่อทราบแน่ชัดว่ามีภาวะกระบอกตาห่างกันมากกว่าปกติแล้ว ก็ควรตรวจวินิจฉัยหาโรคอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ อันได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว

นอกจากนี้ จะต้องมีการประเมินสายตาโดยกุมารจักษุแพทย์ เพื่อให้ทราบถึงสภาพสายตาและลักษณะการใช้สายตาของผู้ป่วยเป็นเบื้องต้น อันจะมีผลต่อการตัดสินใจเรื่องการรักษา

การรักษา

การรักษาต้องอาศัยทีมผู้เชี่ยวชาญแบบสหสาขาวิชา (multidisciplinary team care) เพื่อให้การรักษาได้ผลดีที่สุด โดยมักจะเริ่มต้นด้วยการดูแลรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุก่อน ส่วนการผ่าตัดแก้ไขภาวะกระบอกตาห่างจะพิจารณาตามความรุนแรงและปัญหาทางด้านสายตา  โดยทั่วไป การผ่าตัดการเคลื่อนย้ายกระบอกตาทั้งสองข้างเข้าหากัน (medial orbital translocation) จะทำในช่วงอายุ 2-5 ขวบ

ถ้ากระบอกตาห่างกันมาก ๆ และมีความผิดของสายตา ควรได้รับการผ่าตัดโดยเร็วเพื่อให้มีโอกาสที่พัฒนาการทางด้านสายตาจะเป็นปกติ และยังเป็นการทำให้หน้าตาดูปกติขึ้นด้วย

ถ้ากระบอกตาห่างกันไม่มากและการตรวจเป็นประจำปีละ 1-3 ครั้งไม่พบว่ามีความผิดปกติของสายตา การผ่าตัดเคลื่อนย้ายกระบอกตาก็ไม่ใช่เรื่องรีบด่วน  การผ่าตัดชนิดนี้ถือเป็นการผ่าตัดที่ใหญ่มาก มีการเสียเลือดได้มาก ต้องมีการร่วมดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาในช่วงก่อนและหลังผ่าตัด

ผู้ป่วยที่ภาวะกระบอกตาห่าง ก่อนผ่าตัด
ผู้ป่วยที่มีภาวะกระบอกตาห่างก่อนการผ่าตัดรักษา
ผู้ป่วยภาวะกระบอกตาห่างผิดปกติ หลังการผ่าตัดเคลื่อนย้ายเบ้าตา
ผู้ป่วยรายเดียวกันหลังการผ่าตัดเคลื่อนย้ายกระบอกตาเข้าหากัน

การผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะนี้มีเป็นการผ่าตัดใหญ่และสลับซับซ้อนมาก จำเป็นต้องทำโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านแก้ไขความพิการของใบหน้าและกะโหลกศีรษะ (craniofacial surgeon ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ตกแต่งที่ฝึกอบรมมาโดยเฉพาะ) ร่วมกับประสาทศัลยแพทย์เพื่อช่วยให้การผ่าตัดมีความปลอดภัยยิ่งขึ้น  ในการผ่าตัดนั้น มีการตัดกระดูกบริเวณรอบกระบอกตา ประสาทศัลยแพทย์จะช่วยเหลือในการป้องกันการบาดเจ็บต่อสมอง